
ประแจเลื่อน ด้ามเดียวอยู่ขันอัด ออกงานแน่นได้ทุกเบอร์ samartdiy
ประแจเลื่อน ด้ามเดียวอยู่ขันคาย อัดงานแน่นได้ทุกเบอร์
ในงานก่อสร้างหรือการซ่อมแซม สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการประกอบโครงสร้างเข้าหากัน โดยส่วนมากในการประกอบมักจะใช้น็อตตัวใหญ่ และขันปิดด้วยน็อตตัวเมีย ซึ่งอุปกรณ์การช่างที่ใช้ในการขันนั้นจะเรียกว่าประแจ ซึ่งประแจจะมหลายเบอร์ด้วยกัน บางครั้งอาจจะทำให้เสียเวลาในการหาประแจที่เหมาะสมกับหัวน็อต เลยทำให้เกิดเครื่องมือช่างที่เรียกว่า “ประแจเลื่อน” ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการเสียเวลาในเรื่องหาประแจที่เหมาะสมกับหัวน็อต
ประแจเลื่อน ( Adjustable Wrench ) จะมีลักษณะคล้ายกับประแจทั่วๆ ไป แต่จะมีจุดแตกต่างอยู่ที่ ตรงกลางของประแจจะมีตัวเลื่อนปรับระดับของปากทำให้หมดปัญหาในเรื่องของการหาประแจให้ตรงกับหัวน็อต ตัวประแจเลื่อนจะมีด้ามจับที่กระชับและมีขนาดที่ยาวพอดีกับมือนั่นก็เพื่อให้เป็นแรงส่งในการหมุนหัวน็อตให้เข้าที่หรือคลายหัวน็อตออกให้มีความง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม สำหรับขนาดของประแจเลื่อนนั้นจะมีอยู่หลายขนาดด้วยกัน โดยขนาดมาตรฐานจะเริ่มต้นตั้งแต่ 4 นิ้ว ไปจนถึง 18 นิ้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหน้างานว่าต้องใช้ขนาดใหญ่แค่ไหน วัสดุที่ใช้ทำนั้นส่วนมากจะใช้เหล็กหล่อ เลยทำให้ประแจเลื่อนมีความทนทานและความแข็งแรง สามารถใช้งานได้เป็นเวลานาน
สำหรับวิธีการใช้ประแจเลื่อน อันดับแรกให้ดูสภาพความพร้อมของประแจให้เรียบร้อยว่าสามารถคลายเข้าคลายออกได้ตามปกติหรือเปล่า มีติดค้างตรงไหนหรือเปล่า ตรวจสอบด้ามจับให้อยู่ในสภาพที่ดีไม่หัก ไม่งอ ไม่มีการชำรุด ตรวจสอบตรงปากของประแจว่ามีการบิ่นหรือเบี้ยวหรือเปล่า หากพบให้รีบซ่อมแซมก่อนที่จะทำการใช้งาน จากนั้นให้คลายปากประแจออกแล้วเอาไปทาบกับหัวน็อตที่ต้องการจะไขหรือคลายออก เมื่อได้ขนาดแล้วให้หมุนประแจไปเรื่อยจนสนิทกับหัวน็อต จากนั้นให้ตัวผู้ใช้อยู่ในมุมที่ถนัดในการขันประแจ ก่อนที่จะจับด้ามแล้วหมุนตามเข็นนาฬิกาในกรณีที่ต้องการจะไขให้แน่น หรือหากต้องการจะคลายหัวน็อตออกให้หมุนทวนเข็มนาฬิกาออกมา ข้อระวังในการหมุนเข้านั้นอย่าหมุนจนแน่นเกินไป เอาแค่รู้สึกตึงมือก็พอ
สำหรับวิธีการเก็บรักษาประแจเลื่อนนั้น หลังจากใช้เสร็จแล้ว ให้เอาผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ นำมาเช็ดให้สะอาด จากนั้นให้เอาน้ำมันหล่อลื่นหยอดไปตรงที่ใช้เลื่อนปากประแจ พยายามอย่าให้โดนน้ำเพราะจะเป็นสนิมได้ง่าย โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องใช้เลื่อน จากนั้นเมื่อทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เอาเก็บใส่ถุงหรือกระเป๋า (หากมี) แต่ถ้าไม่มีก็ควรจะเก็บใส่กล่องเครื่องมือให้เรียบร้อย และให้อยู่ในจุดที่จะไม่โดนน้ำ แต่ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องใช้งานต่อ ให้เอาผ้าคลุมไว้ให้เรียบร้อย